ม.นเรศวร วิจัยผลิตภัณฑ์สำหรับแม่สุกรและลูกสุกร ลดการตาย ลดต้นทุน ทางรอดฟาร์มสุกรไทย

ม.นเรศวร จับมือเอกชน เปิดตัวผลิตภัณฑ์ไมโครแฟท พิกบูสเตอร์ (Micro Fat Pig Booster) ผลิตภัณฑ์ผงไมโครเอนแคปซูลน้ำมันกรดไขมันสายกลางเข้มข้น ผลิตภัณฑ์สำหรับแม่สุกรและลูกสุกร ช่วยเพิ่มพลังงานให้แม่สุกรระหว่างคลอด ลดระยะเวลาคลอด ลดอัตราการตายของลูกสุกรแรกคลอด เพิ่มคุณภาพและปริมาณน้ำนมแม่สุกร และกระตุ้นภูมิคุ้มกันแม่และลูกสุกรแรกคลอดผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 12 ธันวาคม 2566 ที่ห้องประชุม 301 ตึกเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผศ.ดร.วรสิทธิ์ โทจำปา ท่านคณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมสัมมนาวิชาการการเลี้ยงสุกร และเทคโนโลยีฟาร์ม เพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์ของคนเลี้ยงหมู ในหัวข้อ การจัดการโภชนะอย่างชาญฉลาด และการใช้เทคโนโลยีเพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืน เพื่อร่วมกันสร้างองค์ความรู้ใหม่ และหาแนวทางรอดต่อวิกฤตการณ์ของฟาร์มสุกรในปัจจุบัน ในภาวะวิกฤติราคาหมูถูก  เนื้อหมูเถื่อนทะลัก ราคาวัตถุดิบสูง โรคระบาด และต้นทุนการผลิตสูง เพื่อสร้างเครือข่ายอย่างบูรณาระหว่างภาครัฐ   ฟาร์มสุกร และภาคเอกชน ต่อ การส่งเสริม และการบริการวิชาการอย่างยั่งยืน ด้วยผลงานวิจัยของคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ไฟโตแทนท์ (PHYTOTANT) สารเสริมสำหรับสุกรเพื่อเป็นพลังงานเร่งด่วนสำหรับสุกรแรกคลอด ลดอัตราการตาย กระตุ้นภูมิคุ้มกันสำหรับลูกสุกร  เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิตฟาร์ม

รองศาสตราจารย์ ดร. วันดี ทาตระกูล ได้กล่าวว่าในฐานะที่ตนเองทำงานวิจัยมา 20-30 ปี สุดท้ายเราต้องการผลักดันงานวิจัยให้ถึงมือผู้ใช้จริงๆ อย่างในกรณีของอาจารย์ทำงานวิจัยทางด้านอาหารเสริมสำหรับสุกร และในส่วนของงานวิจัยนอกจากจะถ่ายทอดไปถึงสุดท้ายคือผู้ใช้ซึ่งจะมีตัวกลางคือผู้ผลิต ซึ่ง ณ วันนี้เป็นโครงการที่นำนักวิจัยผู้ใช้ประโยชน์ตอนท้ายและบริษัทที่อยู่ตรงกลางก็จะมารับเทคโนโลยีของเราไปเพื่อผลิตและจำหน่ายในอนาคต ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรบ้านเรา ที่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศทำให้ต้นทุนสูง มีค่าใช้จ่ายสูง หรือมีสารตกค้าง ทั้งๆที่ความจริงแล้ววัตถุดิบในประเทศของเราที่นำมาใช้เป็นสารเสริมอาหารเสริมสำหรับสัตว์ มีอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นตรงนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น ที่อยากจะบอกกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าแล้ว เพราะเรามีเทคโนโลยีของเราเอง เรามีผลงานวิจัยของเราเอง มีบริษัทที่นำไปต่อยอดได้สำเร็จพร้อมวางจำหน่ายในไทย มีคุณภาพดีใช้งานได้จริงราคาถูก เป็นการช่วยลดต้นทุนของกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรอีกด้วย

ด้านศาสตราจารย์ ดร. ชัยภูมิ บัญชาศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้รับเชิญมาเป็นวิทยากรในหัวข้อโภชนศาสตร์ และการแสวงหาทางรอด สู่ความยั่งยืนธุรกิจฟาร์มสุกร ได้กล่าวว่า เราเจอวิกฤติในการผลิตหมู เราเจอวิกฤติของหมูที่เข้ามาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เกษตรกรจำนวนมากเจอปัญหาเหล่านี้ การแก้ไขคือ 1.เราต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสุกรของเราให้ได้ การเพิ่มประสิทธิภาพคือการลดต้นทุนแบบหนึ่ง ฉะนั้นการจะเพิ่มประสิทธิภาพได้ก็ต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์มาช่วย การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงต้องใช้วิทยาศาสตร์มาช่วย นั่นคือการนำงานวิจัยมาสู่ธุรกิจภาคเอกชนเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างงานที่ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรที่จัดงานในวันนี้เห็นว่าสำคัญมากเพราะว่าทางรอดเดียวของเราคือประสิทธิภาพ ต้นทุนมันแพงอยู่แล้วแพงกันทั่วโลก การเจอโรคระบาดก็เจอกันทั่วโลก ทุกคนต้นทุนแพงเหมือนกันหมด แต่ประเด็นว่าใครจะชนะกันก็ต้องแข่งกันคือเรื่องของประสิทธิภาพ ที่ต้องใช้งานวิจัยใครมีงานวิจัยที่ดีกว่า ใครมีเทคโนโลยีที่ดีกว่าคนนั้นคือผู้ชนะดังนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศไทยที่จะต้องนำงานวิจัยเข้ามาใส่เพิ่ม ไม่ใช่ว่าเราเลี้ยงไปตามยถากรรม สิ่งที่สำคัญที่สุด เวลานี้คือมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยเป็นต้นทุนของประเทศ มหาวิทยาลัยใช้ภาษีของราษฏร ดังนั้นมหาวิทยาลัยต้องเป็นหน่วยงานที่จะต้องเข้าไปซัพพอร์ตภาคธุรกิจให้ได้

ด้าน นายการัณ ศิริพานิช ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมฟาร์ม ได้กล่าวว่า ไมโครแฟท พิกบูสเตอร์ ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวรได้กล่าวว่า ตัวนี้คือตัวไขมันสายกลางเข้มข้นที่เราคัดส่วนที่ดีที่สุดเอามาสกัดผ่านกระบวนการพิเศษในการเคลือบ ซึ่งตัวนี้จะทำให้ประสิทธิภาพที่เราทำให้สัตว์กินจะส่งผลให้ดีมากๆ คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ไฟโตแทนท์ ช่วยเพิ่มพลังงานให้กับลูกสุกรแรกคลอด ช่วยให้ลูกสุกรฟื้นตัวได้เร็วหลังคลอด ช่วยเพิ่มโอกาสลูกสุกรได้รับนมน้ำเหลืองมากขึ้น ลดอัตราการตาย-ท้องเสียกว่า 40-50% ช่วยลดความเครียด และการอักเสบจากอาการท้องเสีย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโต ช่วยลดต้นทุนได้มากกว่า 30% และช่วยลดการผลิตยาปฏิชีวนะ

สำหรับโครงการนี้  มีแผนการจัดกิจกรรมจำนวน  5 ครั้ง  ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ จ.พิษณุโลก  จัดงานใน คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร

ครั้งที่ 2  จัดวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2567 ผ่านความร่วมมือระหว่าง คณะเกษตรศาสตร์ และทรัพยากรธรรมชาติ และ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ จังหวัดชลบุรี

ครั้งที่ 3 จัดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ผ่านความร่วมมือระหว่าง คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์

ครั้งที่ 4 จัดวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 ผ่านความร่วมมือระหว่าง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ครั้งที่ 5 จัดวันที่ 9-10 มีนาคม พ.ศ. 2567 ณ จังหวัดกาญจนบุรี

////