ผู้ว่าพิษณุโลก เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ “พิษณุโลกเมืองใช้ประโยชน์จากขยะ” จับมือกับภาคเอกชนในจังหวัด ประกาศปฏิบัติการ “หยุดทิ้ง! กล่องเครื่องดื่มใช้แล้วขายได้” ในกิจกรรม “กล่องนมรักษ์โลก รักษ์ชุมชน ” เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย
ที่เทศบาลตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานในกิจกรรม ” พิษณุโลกเมืองใช้ประโยชน์จากขยะ ” โดยใช้ วันสิ่งแวดล้อมไทย ทำการคิดออฟ. ที่ชุมชนใหญ่ ตำบลหัวรอพิษณุโลกก่อน โดยจับมือกับภาคเอกชน มีทั้งการประกาศใช้ปฏิบัติการ “หยุดทิ้ง! กล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้ว สามารถขายได้ ” ในกิจกรรม “กล่องนมรักษ์โลก รักษ์ชุมชน ” ส่งเสริมการคัดแยก เก็บกลับวัสดุใช้แล้ว จากภาคประชาชนโดยเฉพาะประเภท “กล่องเครื่องดื่ม” เช่น กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ กล่องกะทิ หรืออื่น ๆ โดย บริษัทวงษ์พาณิชย์ ซึ่งเป็นเอกชนของท้องถิ่นพิษณุโลก ทำการรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 4 บาท 50 สตางค์ ส่วนขยะอื่น ๆ เช่น กระดาษ แก้ว เหล็ก พลาสติก ก็สามารถแยกเพื่อนำมาขายได้เช่นกัน ครั้งนี้จะเน้นที่กล่องนม เพื่อนำไปรีไซเคิลใหม่หรือนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ช่วยลดปริมาณของขยะที่หลุมฝังกลบและลดปริมาณมลพิษ ตลอดจนผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนใน จังหวัดพิษณุโลก และประเทศไทย อย่างยั่งยืน
ดร.สมไทย วงษ์เจริญ จาก บริษัท วงษ์พาณิชย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับซื้อขยะรีไซเคิล กล่าวว่า ได้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการ พิษณุโลกเมืองใช้ประโยชน์จากขยะ (Phitsanulok,the City of Recycling) อย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมา กล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว ไม่มีการรับซื้อ ถูกทิ้งไปในบ่อขยะทั่วประเทศ ประมาณ ๘๕,๐๐๐ ตัน / ปี และใน ปัจจุบัน ได้เปิดรับซื้อแล้วอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนเรื่องการเรียกกลับคืน เพื่อนำมาสร้างประโยชน์ด้วยการรีไซเคิลได้ ตามหลักการความรับผิดชอบต่อสังคม การที่มาเริ่มต้นคิกออฟที่ ตำบลหัวรอ เพราะเริ่มเป็นชุมชนใหญ่ เป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยของประชาชนจำนวนมาก และจะขยายต่อไปให้ครบทุกอำเภอในจังหวัดพิษณุโลก เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทยด้วย
นายปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัทเต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้คือหนึ่งในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยที่มีความสำคัญมากที่สุดของบริษัทฯ เพราะถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะส่งเสริมให้เกิดการจัดการกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วที่ถูกวิธีอย่างยั่งยืน ให้กับชุมชนตามนโยบายและแผนงานที่เราได้ดำเนินงานมาตลอดระยะเวลาหลายปี เต็ดตรา แพ้ค ในฐานะผู้บุกเบิกเทคโนโลยีการผลิตอาหารและเครื่องดื่มรวมถึงกล่องเครื่องดื่มยูเอชที เรามุ่งมั่นที่จะปกป้องอาหาร ผู้คน และโลกของเรา โดยยึดหลักการสากลในเรื่อง “ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต หรือ Extended Producer Responsibility (EPR)” ในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เราเชื่อว่า บรรจุภัณฑ์ใช้แล้วไม่ใช่ “ขยะ” แต่เมื่อแยกออกมา คือ “วัตถุดิบ” ในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัทฯ รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ของเราและยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการลดปริมาณขยะต้นทาง เพื่อขับเคลื่อนโครงการ “พิษณุโลกเมืองใช้ประโยชน์จากขยะ” ให้ประสบความสำเร็จ
นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า“กล่องนมรักษ์โลก(ชุมชน)” เป็นการต่อยอดจากโครงการ “กล่องนมรักษ์โลก” ภายใต้ความมุ่งมั่นของไมโล ที่ต้องการปลูกฝังจิตสำนึกและพฤติกรรมด้านความยั่งยืนให้แก่เด็ก โดยเริ่มต้นจากที่โรงเรียน และขยายผลมายังระดับครัวเรือน ชุมชน ร้านค้าเทศบาล เพื่อส่งเสริมการคัดแยก และเปลี่ยนขยะให้เกิดประโยชน์ผ่านการจัดการที่เหมาะสมตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเราเชื่อมั่นว่า การลงมือเก็บและคัดแยกขยะอย่างจริงจัง เพื่อนำไปรีไซเคิลได้อย่างถูกวิธี ทำให้ปริมาณขยะในโรงเรียน ชุมชน ลดลงอย่างเป็นรูปธรรม ตามความมุ่งมั่นของเนสท์เล่ว่าเราจะป้องกันมิให้เกิดขยะสู่หลุมฝังกลบและแหล่งน้ำ โดยมีจิ๊กซอว์สำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ คือความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน บริษัทฯ ขอขอบคุณคณะผู้บริหารของจังหวัดพิษณุโลก เทศบาลสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน ชุมชน วัด ร้านค้า และวงษ์พาณิชย์ ที่จะช่วยให้เกิดการเก็บกลับคัดแยกบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่มยูเอชทีเพื่อนำไปรีไซเคิล
นายสมยศ วัฒน์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีโค่ เฟรนด์ลี่ ไทย จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการ รีไซเคิลกระดาษและกล่องเครื่องดื่มยูเอชที กล่าวว่า กล่องเครื่องดื่มมีวัตถุดิบหลักเป็นกระดาษ และมีส่วนประกอบเป็นพลาสติก อะลูมิเนียมฟอยล์ ซึ่งเมื่อเข้าสู่กระบวนการแยกเยื่อกระดาษจะสามารถได้เยื่อกระดาษคุณภาพสูง ไปใช้ในอุตสาหกรรมกระดาษรีไซเคิล กระดาษทิชชู่ เป็นต้น ขณะที่พลาสติก อะลูมิเนียมฟอยล์ สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อพัฒนาเป็นสินค้าใหม่ เช่น แผ่นอิฐปูพื้นถนน ไม้เทียม ฯลฯ โดยในปี ๒๕๖๗ บริษัทตั้งเป้ารับซื้อกล่องเครื่องดื่มยูเอชทีใช้แล้ว ๒,๐๐๐ – ๓,๐๐๐ ตันเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล