รพ.พุทธชินราช จัดงาน 7 รอบ 7 มหัศจรรย์ประวัติศาสตร์และการแพทย์วิวัฒน์ 84 ปี  

โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก จัดงานครบรอบ 84 ปี ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 เพื่อตอบแทนชาวจังหวัดพิษณุโลก ด้วยการจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 17 – 20 พฤศจิกายน 2567 ภายใต้ชื่องาน “7 รอบ 7 มหัศจรรย์ประวัติศาสตร์และการแพทย์วิวัฒน์ 84 ปี โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก โดยคนพิษณุโลกเพื่อคนพิษณุโลก”

วันที่ 20 พฤศจิกายน 66  ที่ห้องประชุมพลับพลึง โรงพยาบาลพุทธชินราช  จ.พิษณุโลก นายแพทย์สุชาติ พรเจริญพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก พร้อมด้วย  นพ.เชาวกิจ ศรีเมืองวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ นพ.นิชา ยศวิไล ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านคุณภาพและความปลอดภัย  และ ดร.นงลักษณ์ บุญเยีย ได้ร่วมแถลงข่าว เตรียมจัดงานครบรอบ 84 ปี ในปีหน้านี้ ภายใต้ชื่องาน “7 รอบ 7 มหัศจรรย์ประวัติศาสตร์และการแพทย์วิวัฒน์ 84 ปี โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก โดยคนพิษณุโลกเพื่อคนพิษณุโลก” เพื่อตอบแทนชาวจังหวัดพิษณุโลก ด้วยการจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 17 – 20 พฤศจิกายน 2567

นายแพทย์สุชาติ พรเจริญพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก เปิดเผยว่า ในวันนี้ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ได้จัดกิจกรรม 2P Safety Week สัปดาห์แห่งความปลอดภัย ขึ้น ซึ่งเป็น 1 ใน 7 กิจกรรมครบรอบ 84 ปี โรงพยาบาลฯ เพื่อสร้างความร่วมมือและทบทวนมาตรฐานความปลอดภัยด้านต่าง ๆ แก่ผู้ป่วย โดยการรณรงค์ให้ทุกหน่วยงานภายในโรงพยาบาลฯ เน้นถึงความปลอดภัยในการให้บริการแก่ผู้ป่วยไม่ผิดคน ด้วยปฏิบัติตามหลัก Look Ask Check ซึ่งจะจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 20 – 24 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุมพลับพลึง ชั้น 5 อาคารผู้ป่วยนอก บริเวณชั้น 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ และลานอเนกประสงค์ Health Plaza ในวันนี้จึงเป็นโอกาสและจุดเริ่มต้นอันดีที่จะขอเชิญชวนชาวจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมกิจกรรม“7 รอบ 7 มหัศจรรย์ประวัติศาสตร์และการแพทย์วิวัฒน์ 84 ปี โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก โดยคนพิษณุโลกเพื่อคนพิษณุโลก” ที่จะจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้และตลอดจนปี 2567

ในโอกาสที่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก จะมีอายุครบ 84 ปี ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 จึงถือโอกาสในวาระแห่งการถือกำเนิดโรงพยาบาลฯ ครบ 7 รอบนี้ ตอบแทนชาวพิษณุโลก ด้วยการจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 17 – 20 พฤศจิกายน 2567 ในชื่องาน “7 รอบ 7 มหัศจรรย์ประวัติศาสตร์และการแพทย์วิวัฒน์ 84 ปี โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก โดยคนพิษณุโลกเพื่อคนพิษณุโลก” ซึ่งประกอบด้วย 7 กิจกรรม ดังนี้

The Miracle of Health มหัศจรรย์การแพทย์ ตลอดปี 2566 – 2567 โดยการเปิดศูนย์ผู้สูงอายุ ณ ตึก 7 ชั้น ณ ศูนย์การแพทย์ชินราชา The Miracle of Running มหัศจรรย์แห่งการวิ่ง  โดยการจัดงานวิ่งเส้นทางโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ไปตามถนนกลางเมือง ถึงพระราชวังจันทน์ และกลับมาที่โรงพยาบาลฯ ระยะทาง 10 กิโลเมตร  The Miracle of Helping Hand มหัศจรรย์สองมือที่เกื้อกูล ตลอดปี 2566 – 2567 โดยการจัดกิจกรรม จำนวน 84 กิจกรรม จากทุกหน่วยงานภายในโรงพยาบาลฯ อาทิ การตรวจสุขภาพ ตรวจรักษา การให้ความรู้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วยและประชาชน

The Miracle of 3P Safety มหัศจรรย์แห่งความปลอดภัยไตรภาคี ตลอดปี 2567 โดยการสร้างความร่วมมือและทบทวนมาตรฐานความปลอดภัยด้านต่าง ๆ แก่ผู้ป่วย โดยเพิ่มมุมมองที่ผู้ให้บริการและประชาชน The Miracle of Medical Life มหัศจรรย์สหการแพทย์แห่งชีวิต  โดยจัดการประชุมวิชาการโรงพยาบาลประจำปี พร้อมเสวนาเชิงประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข และการจัดทำหนังสือและของที่ระลึกหนึ่งเดียวในโลกThe Miracle of Sra-Keaw มหัศจรรย์แห่งสระแก้ว โดยการรื้อฟื้นประเพณีงานประจำปีโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก เช่น การจัดกระบวนแก่เทียนงานประจำปีจากวันพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารมาสู่โรงพยาบาล จัดงานรื่นเริงประจำปีเป็นเวลาสองคืนในแบบฉบับแพทย์พยาบาลรอบผืนน้ำสระแก้วร่วมกับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีพุทธชินราช พิษณุโลก The Miracle of Bud-Hosp Herritage มรดกประวัติศาสตร์ในบ้านมหัศจรรย์  โดยการเปิดบ้านนำชมแห่งประวัติศาสตร์เรื่องเล่าในโรงพยาบาลในรูปแบบ Tour by Train หรือ Working tour เปิดชมเรือนเชลแมน แหล่งอนุสรณ์รำลึกโรงพยาบาลเชลแมน และเปิดตัวโครงการอนุรักษ์อาคารพิษณุไมตรี และปฏิสังขรณ์เรือนเชลแมน

โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก เป็นโรงพยาบาลศูนย์ระดับประเทศที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ควบคู่ไปกับสังคมเมืองพิษณุโลกมานานกว่าแปดทศวรรษ ตั้งอยู่บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ของเมืองพิษณุโลกมาตั้งแต่สมัยอยุธยา คือ “สระแก้ว” และติดเส้นทางรถไฟที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งนำพาความเจริญมาสู่เมืองพิษณุโลกและโรงพยาบาลด้วย เมื่อครั้งมิชชันนารี นำโดย นายแพทย์ทอยและคณะมาถึงพิษณุโลกเมื่อปี 2441 ได้ก่อตั้งโรงพยาบาลขึ้นครั้งแรก บริเวณริมน้ำน่านฝั่งตะวันตก โดยวางรากฐานการแพทย์แผนตะวันตกให้กับชาวเมืองได้รู้จัก จนได้รับการยอมรับนับถือถึงฝีมือการรักษา โดยเฉพาะ นายแพทย์เชลแมน ผู้เป็นที่รักของชาวเมือง ครั้นเมื่อท่านจากไปด้วยโรคระบาด ชาวเมืองจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อโรงพยาบาลของคณะมิชชันนารีแห่งนั้นว่า “โรงพยาบาลเชลแมน” การแพทย์เพื่อชาวพิษณุโลก ได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากโรงพยาบาลเชลแมนมาสู่โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ด้วยปูชนียาจารย์การแพทย์และพยาบาล คือ นายแพทย์เบนทูล และนางผกา บุญอิต สองสามีภรรยาที่สละชีวิต ส่วนตนอันสะดวกสบายจากเมืองหลวง เดินทางมายังเมืองพิษณุโลก เพื่ออุทิศตนเพื่อชาวพิษณุโลกมานานกว่า 30 ปี เป็นผู้บุกเบิกให้กับโรงพยาบาลฯ แห่งนี้ และให้กำเนิดโรงเรียนพยาบาลและการผดุงครรภ์อีกด้วย

ทั้งนี้ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก ได้ถือเอาวันทำสัญญาก่อสร้าง คือ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2483 เป็นวันกำเนิดซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้ อีกทั้งเงินงบประมาณแผ่นดินและเงินบริจาคจากชาวบ้านทุกชนชั้น โดยทุกคนต่างสละทรัพย์ตั้งจิตถวายกุศลแด่หลวงพ่อพุทธชินราช โรงพยาบาลแห่งนี้จึงมีนามว่า “โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก”

ซึ่งท่านสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดของแต่ละกิจกรรมได้ทาง Facebook page ข่าวประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก