น้องๆหนูๆ ทำนาโยนลงแขกปลูกข้าวสนุกสนาน

สีสันน้องๆ หนูๆ โรงเรียนอนุบาลและประถมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมลงแขกปลูกข้าวชาวเทา – แสด ของมหาวิทยาลัยนเรศวรด้วยวิธีการทำนาโยนเพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนา ถึงจะเลอะเปรอะเปื้อนไปบ้างแต่ก็ถือว่าเป็นอีก 1 กิจกรรมที่จะสร้างประสบการณ์และเปิดโลกทัศน์ให้กับเด็กๆ

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ที่วิชชาลัยข้าวและชาวนา ซึ่งเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านการปลูกข้าวและการเก็บเกี่ยว รวมถึงกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ดร.พิสุทธิ์ อภิชยกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิดกิจกรรมลงแขกปลูกข้าวชาวเทา – แสด

ภายในงานมีการทำกิจกรรมปลูกข้าว ด้วยวิธีการโยนข้าว หรือที่เรียกว่า “นาโยน” การปลูกข้าวด้วยการโยน จำนวน 3 แปลง ซึ่งเป็นการทำนารูปแบบใหม่ในยุคปัจจุบัน สามารถควบคุมวัชพืช ลดการใช้สารเคมี ใช้เมล็ดพันธุ์น้อยกว่าการทำนาแบบอื่น แตกกอได้ดีกว่า การจัดการแปลงนาสามารถทำได้ดีกว่า ลดอาการปวดหลัง เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และแทบไม่ต้องใช้สารเคมีใด ๆ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมดีขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ยังเปิดโลกทัศน์ให้กับเด็กนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 3 จำนวน 50 คน จากโรงเรียนอนุบาลและประถมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ฝึกการเรียนรู้ การทำนา และวิธีการปลูกข้าวด้วยวิธีการโยน หรือที่เรียกว่านาโยน ซึ่งเด็กๆนักเรียนมีคณะครู และพี่เลี้ยงคอยดูแลและแนะนำขั้นตอนการทำนาโยนอย่างใกล้ชิด ซึ่งเด็กๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเด็กบางกลุ่มขออนุญาติคุณครูลงไปในแปลงนาเพราะอยากจะลองเหยียบโคลนว่าจะรู้สึกอย่างไร จนเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานสร้างสีสันให้กับเด็กๆได้เรียนรู้ ถึงจะเลอะเปรอะเปื้อนไปบ้างแต่ก็ถือว่าเป็นอีก 1 กิจกรรมที่จะสร้างประสบการณ์ให้กับเด็กๆ ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรม คณะคุณครูก็ได้พาเด็กๆ ล้างเนื้อล้างตัว ก่อนจะกลับไปอาบน้ำที่โรงเรียนต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการเล่าเรื่อง “วัฒนธรรม ประเพณีการปลูกข้าว” โดยปราชญ์ชาวบ้านตำบลท่าโพธิ์ ให้กับผู้บริหาร บุคลากร นิสิต คณะครูและนักเรียนชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนอนุบาลและประถมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร และภายนอกมหาวิทยาลัย องค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ โดยกลุ่มผู้สูงอายุจะมาถ่ายทอดความรู้ประเพณีเกี่ยวเนื่องเรื่องข้าวจากรุ่นสู่รุ่น และกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องการปลูกข้าว การเพาะกล้าข้าว และกระบวนการแปรรูปหลังการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หน่วยงานต่าง ๆ เป็นพื้นที่ทางสังคมที่ได้ทำกิจกรรมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณีซึ่งเป็นวิถีเกษตรกรรมของภาคเหนือตอนล่างให้คงอยู่สืบไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิษฐ์ภัณฑ์ แคนลา รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ กองส่งเสริมการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้บอกว่า กิจกรรมในวันนี้คือการลงแขกปลูกข้าวเทา-แสด โดยใช้วิธีการทำนาโยน โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ โดยวันนี้ในนำเด็กๆ จำนวน 50 คน จากโรงเรียนอนุบาลและประถมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตให้กับเด็กๆ ในการทำนาโยน และมีสาธิตการทำนาหว่าน และนาดำ โดยกิจกรรมในวันนี้แบ่งออกเป็นฐาน คือ การเพาะกล้า ปลูกข้าว วงจรข้าว และเครื่องจักรหลังการเก็บเกี่ยวที่จะให้ความรู้กับเด็กๆ เพราะพิษณุโลก ถือเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ ส่วนหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งเรามองว่าปัจจุบันเด็กๆ ห่างเหินจากธรรมชาติหันสู่หน้าจอกันมากขึ้น เราจึงอยากให้เด็กออกห่างจากหน้าจอเพื่อทำกิจกรรมภายนอก และได้เห็นว่าในวิถีชีวิตในชุมชนแต่ดั้งแต่เดิมเป็นมาอย่างไร

/////////////////////